วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

เที่ยวอุโมงค์กูจี ตอนที่ 3



อุโมงค์กูจี หรือ อูโมงค์กู๋จี (Củ Chi tunnels) นั้น ถือเป็นเครือข่ายและเมืองใต้ดินขนาดใหญ่ที่กองทหารชาวเวียดกงใช้เป็นฐานปฏิบัติการ,เส้นทางสื่อสารและเสบียง,โรงพยาบาล,สถานที่เก็บอาหารและอาวุธ รวมไปถึงเป็นที่พักอาศัยของนักสู้แบบกองโจรเป็นจำนวนมากในช่วงสงครามเวียดนาม ปี ค.ศ 1957-1975 น่ะนะคะ

สงครามครั้งนั้ันเป็นการห้ำหั่นกันระหว่างเวียดนามเหนือซึ่งปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์และเวียดนามใต้ที่ถูกสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา(ประชาธิปไตย) และจบลงด้วยชัยชนะของเวียดนามเหนือ เนื่องมาจากแผนการรบและการวางแผนแบบกองโจร โดยมีฐานปฏิบัติการและสนามสู้รบส่วนใหญ่อยู่บริเวณที่ตั้งของอุโมงค์กูจีในปัจจุบันนี้เอง ปัจจุบันประเทศเวียดนามจึงได้รวมกันเป็นหนึ่ง และปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศเวียดนาม โดยเรียกสงครามครั้งนี้ว่า เป็นสงครามปกป้องชาติจากอเมริกัน หรือสงครามอเมริกัน


ปัจจุบัน อุโมงค์กูจี ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมค่ะ ซึ่งภายในบริเวณอุโมงค์กูจีโดยรอบนั้น ก็จะมีการจัดแสดงรูปแบบของการอยู่อาศัย การใช้ชีวิต รวมไปถึงฐานปฎิบัติการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลุมที่ใช้เป็นห้องประชุม,โรงอาหาร,ห้องพยาบาล,โรงเก็บและผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ ฯ ให้เราได้ชมด้วย ซึ่งเมื่อได้เดินดูรอบ ๆ แล้ว อิชั้นก็ถึงบางอ้อฮ่ะ ว่าทำไมทหารอเมริกันถึงได้พ่ายแพ้สงครามในครั้งนี้ ทั้ง ๆ ที่น่าจะมีทั้งกำลังคน กำลังทรัพย์ และอาวุธที่ทันสมัยกว่า นั่นก็เป็นเพราะ ความอดทนและความฉลาดแยบยลของทหารชาวเวียดนามนั่นเอง ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันนี้จะผ่านช่วงสงครามครั้งนั้นมาแล้ว แต่ร่องรอยของความเสียหายทั้งต่อภูมิประเทศและต่อผู้คนซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่ต้องหลบซ่อนและอยู่อาศัยภายในอุโมงค์ดินแคบ ๆ มืด ๆ เป็นเวลานาน ก็ส่งผลให้ร่างกายของชาวเวียดนามที่อยู่ในยุคสมัยนั้นและยังมีชีวิตอยู่ ต้องผจญกับปัญหาสุขภาพหลายอย่างทีเดียวน่ะนะคะ

กับดักและอาวุธต่าง ๆ ที่ทหารเวียดนามใช้ในการต่อสู้กับข้าศึก





นอกจากนี้แล้วก็ยังมีการจำลองวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ให้เห็นถึงการกินอยู่และการทำงานของผู้คนที่ต้องหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์กูจีแห่งนี้ให้ดูอีกด้วย






ในตอนหน้าของทริปถูกใจ เราจะพาทุกท่านเดินทางสู่ จ.ฟานเถียตเพื่อชมความงามและความน่าพิสวงของทะเลทรายขาวและทะเลทรายแดงแห่ง มุยเน่ กันค่ะ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในครั้งหน้านะคะ



อ้างอิงข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
ภาพประกอบจาก Pacharawalai